วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

อุเอสึงิ เคนชิน เทพสงครามบิชามอนเท็น หนึ่งในสามขั้วมหาอำนาจแห่งยุคเซ็นโงคุ




     กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความเกี่ยวกับเซอร์แวนท์ ในรอบนี้นั้นผมได้ทำประวัติของอีกบุคคลหนึ่งที่อยู่ในยุคเซ็นโงคุเช่นเดียวกันกับที่ทำประวัติของโอดะ โนบุนากะมารฟ้าที่ 6 แห่งตระกูลโอดะไปก่อนหน้านี้ ในรอบนี้เองผมเองก็ใช้เป็นโอกาสอันดีที่จะทำประวัติของคู่ปรับคนสำคัญของโนบุนากะและคนๆนั้นก็คือ อุเอสึงิ เคนชิน (Uetsugi Kenshin) เทพสงคราม “บิชามอนเท็น” หรืออีกฉายาหนึ่งคือ มังกรแห่งเอจิโกะ นั่นเอง

     อุเอสึงิ เคนชิน มีชื่อเดิมว่า นางาโอะ คาเงโทระ เนื่องจากในเวลานั้นตระกูลนางาโอะมีปัญหาเรื่องการช่วงชิงอำนาจของเหล่าผู้สืบทอดเจ้าตัวจึงได้ออกบวชเพื่อรักษาชีวิตไว้ ตัวคาเงะโทระในสมัยนั้นเองก็มีวามสุขกับการอยู่ในวัดเพื่อปฎิบัติธรรมดังนั้นเขาจึงแทบจะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องราวทางโลกเลย ทว่าพี่ชายของเขาฮารุคาเงะซึ่งเป็นผู้น้ำตระกูลในขณะนั้นล้มป่วยหนักจากโรคพิษสุราเรื้อรัง ฮารุคาเงะจึงถูกขุนนางผู้รับใช้ทั้งหลายร่วมกันขับออกจากตำแหน่งผู้นำตระกูลทำให้เกิดสงครามภายในของตระกูลนางาโอะ ผลการการพ่ายแพ้ครั้งนั้นของฮารุคาเงะ จึงทำคาเงโทระจึงขึ้นมาเป็นผู้นำตระกูลแทนพี่ชายของตนเอง

     นางาโอะ คาเงโทระ ทำหน้าที่ปกครองตระกูลนางาโอะได้เป็นอย่างดี ฝีมือการสู้ของเขาก็สูงส่งจนแม่ทัพนายกองหลายคนต้องยอมรับ นอกจากฝีมือการต่อสู้ที่เกี่ยวกาจจนหาตัวจับได้ยากแล้วคาเงโทระผู้นี้ยังเป็นผู้ที่ศึกษาตำราพิชัยสงครามมาอย่างยาวนาน เขาจึงถูกนับเป็นแม่ทัพผู้เชี่ยวชาญทางยุทธวิธีการทำศึกอีกด้วย  

     คาเงะโทระได้ทำงานภายใต้นามของอุเอสึงิ โนริมาสะ มาอย่างยาวนาน ผลงานต่างๆที่เขาได้สร้างไว้เป็นที่ประจักษ์ และการรบที่นำชื่อเสียงให้กับชายผู้นี้ครั้งหนึ่งก็คือการรบกับตระกูลโฮโจที่เข้ามารุกรานแคว้นโคซูเกะ ซึ่งทำให้ผลจากการรบนั้นทำให้อูเอซูงิ โนริมาซะต้องหลบหนีมาขอความช่วยเหลือจากนางาโอะ คาเงโทระและยังขอให้นำแคว้นโคซูเกะกลับมาคืนมาอีกด้วย คาเงะโทระในตอนนั้นตอบตกลงเพียงแค่ว่ามีข้อแม้ว่าโนริมาซะต้องรับตนเป็นบุตรบุญธรรมเสียก่อนซึ่งโนริมาซะเองก็ตอบตกลง ในการการศึกครั้งนั้นนางาโอะ คาเงโทระได้เปลี่ยนชื่อของตนเองเป็นอุเอสึงิ มาซาโตระ  นอกจากเขาจะทำได้จริงดังเช่นที่ลั่นวาจาเอาไว้แล้วเขายังไล่ต้อนตระกูลโฮโจกลับไปยังปราสาทโอดาวาระซึ่งเป็นฐานที่มั่นหลักของตระกูลโฮโจได้อีกด้วย เหตุการณ์นี้ส่งผลให้อำนาจและอิทธิพลของตระกูลโฮโจในภูมิภาคคันโตนั้นลดลงอย่างมาก

     หลายคนคงจะสงสัยว่าทำไมอุเอสึงิ เคนชินผู้นี้ถูกเรียกเช่นนั้นแทนที่จะเป็นอุเอสึงิ มาซาโทระซึ่งเป็นชื่อจริง ที่จริงแล้วชื่อ "เคนชิน(謙信)" เป็นฉายาทางธรรมของชายผู้นี้ ซึ่งได้มาหลังจากการทำศึกของโฮโจจบสิ้น ระหว่างนั้นอุเอสึงิ มาซาโทระก็ได้บวชเพื่อศึกษาธรรมอีกครั้งหนึ่งและนั่นเป็นเหตุให้เขาได้รับฉายาทางธรรมนี้มา และฉายาทางธรรมนี้นั้นเป็นชื่อที่คนทั่วไปเรียกขานเขากันมากกว่าชื่อจริงเสียอีก ดังนั้นหากเรียกเขาว่าอุเอสึงิ เคนชินจะเป็นที่รู้จักกันมากกว่า

     ช่วงชีวิตของอุเอสึงิ เคนชินช่วงแรกๆนั้นจะอยู่ในสนามรบเพื่อต่อสู้กับตระกูลทาเคดะ คู่ต่อสู้ที่สำคัญที่สุดของเขานั้นก็คือ ทาเคดะ ชินเง็น หรือที่เรียกกันในฉายาว่า พยัคฆ์แห่งคาอิ และด้วยความสามารถที่ทัดเทียมกันนั้นผลการรบจึงไม่ปรากฎชัดเจนว่าผู้ใดเป็นฝ่ายที่เหนือกว่ากันแน่ แต่สุดท้ายพยัคฆ์แห่งคาอิก็ต้องสิ้นชีพลงกระทันหันด้วยโรคร้าย(ซึ่งไม่ได้ระบุว่าพยัคฆ์แห่งคาอิป่วยเป็นโรคอะไร)มีผลทำให้มังกรแห่งเอจิโกะต้องหมดคู่แข่งคนสำคัญไปคนหนึ่ง

     คู่แข่งอีกคนหนึ่งของมังกรแห่งเอจิโกะคนนี้คือโอดะ โนบุนากะซึ่งช่วงนั้นตระกูลโอดะเป็นช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดไม่ว่าทัพใดๆที่ว่าแน่ก็พ่ายแพ้กับมารฟ้าผู้นั้นจนเกือบหมด ทว่าเมื่อฟ้าส่งจอมมารมาเกิดแล้วก็ต้องส่งเทพสงครามมาปราบเช่นกัน ทั้งคู่จึงเป็นศัตรูฟ้าส่งมาอีกคู่หนึ่งในยุคเซ็นโงคุ อุเอสึงิ เคนชินรู้ดีว่าพลปืนไฟของโอดะ โนบุนากะนั้นแข็งแกร่งเพียงใด แข็งแกร่งของพลปืนของจอมมารนั้นทำให้หลายๆแคว้นพยายามครอบครองปืนให้ได้มากที่สุด อันที่จริงแล้วนั่นอาจจะเป็นความผิดพลาดของแคว้นเหล่านั้นเพราะแม้ว่าพวกเขาจะพยายามสักเท่าใดก็ไม่มีวันที่จะได้ครอบครองปืนมากกว่าตระกูลโอดะซึ่งมีมากที่สุดในเวลานั้นได้ พวกเขาไม่มีวันรู้เลยว่าระหว่างที่กำลังฝึกฝนพลปืนเพื่อสู้รบนั้นพวกเขาก็ถือได้ว่าก้าวช้าไปกว่าโอดะ โนบุนากะก้าวหนึ่งเสียแล้ว

     เคนชินนั้นทราบดีว่ายุคสมัยนั้นกำลังเปลี่ยนไป ตั้งแต่ที่พลปืนไฟของโนบุนากะสร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ที่ศึกนากาชิโนะ ทว่าทรัพยากรของอุเอสึงินั้นไม่เพียงพอสำหรับการกว้านซื้อปืนคาบศิลาให้ทัดเทียมกับตระกูลโอดะได้ ซึ่งเคนชินเองก็ไม่ได้ปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างไร้ค่าเขาได้ใช้เวลาคิดวิธีการรับมือกับพลปืนไฟของโนบุนากะ วิธีที่เขาจะคิดค้นขึ้นนั้นจะต้องแยบคายกว่า และนั่นจะต้องเป็นสิ่งที่โอดะ โนบุนากะยังไม่พบเคยเจอมาก่อน และนั่นทำให้เกิดยุทธวิธีการรบรูปแบบใหม่ของทหารม้าขึ้น 

     โดยปกติแล้วนั้นทหารม้าจะทำหน้าที่บุกทะลวง ทว่าการบุกทะลวงเข้าไปหาหน่วยพลปืนไฟของโนบุนากะนั้นไม่ต่างจากการรนหาที่ตาย วิธีบุกทะลวงแบบนี้นั้นตระกูลทาเคดะได้ลองทำมาแล้วผลคือพินาศย่อยยับในศึกนากาชิโนะ โดยที่ทัพของโอดะแทบจะไม่เสียหายใดๆเลย นั่นเพราะโนบุนางะศึกษาวิธีแก้ทางทัพม้ามาอย่างดีด้วยการตั้งรั้วแหลมกั้นม้าทำให้ทหารม้าที่ทาเคดะภาคภูมิใจไม่สามารถบุกเข้ามาได้อย่างที่ควรจะเป็นส่งผลให้ตายกันเรียบ ดังนั้นในศึกที่แม่น้ำเทโดริกาวะ อุเอสึงิ เคนชินจึงได้วางค่ายกลโดยใช้ชัยภูมิเป็นอาวุธลับ เมื่อทัพโอดะบุกมาทัพม้าก็กระจายกำลังเป็นแถวต่างๆ อย่างเป็นระเบียบ โดยทัพของอุเอสึงิ เคนชินจะไม่เคลื่อนพลบุกเข้าประจันหน้าในทันที ซึ่งทำให้การรูปแบบตั้งพลปืนไฟของทัพโอดะใช้ไม่ได้ผล และเมื่อทัพโอดะพยายามจะรุกเข้ามาในระยะหวังผลทัพม้าของอุเอสึงิก็จะถอยออกจากระยะยิงไป ทำให้ทัพโอดะต้องรุกเข้าไปอีก และนั่นถือว่าเป็นความผิดพลาดในฐานะของผู้บัญชาการอย่างชิบาตะ คัตสึอิเอะที่รุกเข้าไปในอุบายของอุเอสึงิ เคนชินอย่างสมบูรณ์โดยขาดความระวัง เมื่อยื่นมือเข้าไปแตะเกล็ดย้อนของมังกรเข้าแล้วนั้นแน่นอนว่าต้องได้ผลลัพท์ที่เลวร้ายเป็นการตอบแทนกลับมา แน่นอนว่ามังกรแห่งเอจิโกะได้ให้รางวัลตอบแทนกับทัพโอดะอย่างเจ็บแสบด้วยการเปิดเขื่อนที่ทำไว้กั้นแม่น้ำเทโดริกาวะส่งผลให้ทัพโอดะที่นำมาโดยชิบาตะ คัตสึอิเอะพ่ายแพ้ยับเยินเนื่องจากปืนยิงไม่ออกจากความชื้นและทัพยังหนำซ้ำทัพของเขายังโดนตัดขาดออกจากกันอีกด้วย ตัวชิบาตะ คัตสึอิเอะเองก็หนีตายออกจากสนามรบแทบไม่ทันหวิดที่จะจบชีวิตลงที่ศึกนี้อีกด้วย

     ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้โอดะ โนบุนากะต้องเปลี่ยนยุทธวิธีในการต่อสู้ใหม่ทั้งหมด ทั้งสองทัพต่อสู้กันอยู่หลายครั้งหลายคราแต่ก็มิอาจรู้ผลแพ้ชนะโดยแท้จริงได้ โนบุนากะนั้นจำเป็นต้องยุติการรุกเข้าสู่คันโตเพราะเสียกำลังพลอย่างไร้ประโยชน์มากเกินไป ส่วนอุเอสึงิ เคนชินเองก็ไม่สามารถบุกเข้าไปได้เช่นกัน โดยส่วนตัวของผมแล้วผมคิดว่าเคนชินรอบคอบเรื่องนี้มากเพราะพื้นที่คันโตของเคนชินนั้นค่อนข้างไกลจากพื้นที่ภาคกลาง การจะรุกจากขอบสุดมาจากภาคกลางมีโอกาสที่โนบุนากะจะตลบหลังจนทำให้ทัพของเคนชินถูกล้อมกรอบก็ได้ นอกจากนี้เคนชินคงระวังตัวโนบุนากะที่เป็นคนเจ้าเล่ห์และชอบสร้างอะไรเซอร์ไพรส์มาให้เสมอๆก็เป็นได้

     เคนชินทราบดีว่าโนบุนากะไม่ใช่คนบ้าแต่เป็นอัจฉริยะคนหนึ่งในยุคนั้น สิ่งที่โนบุนากะทำนั้นไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันเพียงแต่ยังไม่มีผู้ใดในสมัยนั้นทำมันให้สำเร็จเท่านั้นและความคิดนอกกรอบเหล่านั้นคือคมเขี้ยวแสนคมกริบของโนบุนากะที่พร้อมจะฉีกขย้ำทุกคนที่คิดว่าสิ่งที่เขาทำเป็นเรื่องโง่เขลาจนดับดิ้นไปเสียทุกราย ตัวอย่างที่สำคัญนั้นคือเรื่องที่โนบุนากะยกทัพปราบตระกูลโมริซึ่งการศึกกับโมรินั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะตระกูลโมรินั้นได้ชื่อว่าเป็นตระกูลที่มีกองทัพเรือที่แข็งแกร่งที่สุดในญี่ปุ่นเวลานั้น ทว่าโนบุนากะกลับสร้างบิ๊กเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่ให้ทัพโมริด้วยการสร้างเรือรบที่แข็งแกร่งว่าของตระกูลโมริโดยเป็นเรือรบขนาดใหญ่พิเศษหุ้มเกราะทั้งหมด 6 ลำ และในศึกคิกุคาวากุชิเรือรบทั้งหมดก็แสดงศักยภาพของมันด้วยการบดขยี้ทัพเรือจำนวนมากที่ตระกูลโมริภาคภูมิใจจนพังยับในศึกนั้น ศึกนั้นทำให้ตระกูลโมริเสียกำลังไปมากและไม่สามารถที่จะยกทัพข้ามฝั่งทะเลเข้ามายังเขตแดนของโอดะอีกเลย ซึ่งหากมองจากสิ่งนี้แล้วก็มีความเป็นไปได้ว่าโนบุนากะเตรียมอะไรบางอย่างไว้รับมือกับอุเอสึงิ เคนชินก็เป็นได้




     โอดะ โนบุนากะนั้นแม้จะมีความมุทะลุดุดันแต่ก็เป็นชายที่มีด้านที่เยือกเย็นและรอบคอบอยู่ เขารู้จักคุณค่าของเวลาเป็นอย่างดี เมื่อเขารู้ว่าสามารถคว้าชัยชนะได้เวลานั้นเขาจะไม่ยอมให้เสียเปล่าอย่างเด็ดขาดนั่นจะทำให้เขาออกคำสั่งบุกทะลวงแบบชนิดที่ว่าไร้การปราณี ในทางกลับกันนั้นหากเขาคิดว่าตนเองยังไม่พร้อมที่จะรุกต่อไปนั้นเขาจะไม่เข้าไปสุ่มสี่สุ่มห้าอย่างแน่นอน ยิ่งกับเคนชินผู้มีสติปัญญาล้ำเลิศจนหาทางแก้ยุทธวิธีของเขาได้ทุกครานั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง เคนชินเองก็เข้าใจจุดนี้ดีของโนบุนากะดีและพยายามทำให้ทัพโอดะเตรียมความพร้อมล่าช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความสัมพันธ์ของทัพทั้งสองเปรียบดั่งหอกที่คมที่สุดและโล่ที่แข็งแกร่งที่สุดที่หากสู้กันอย่างแตกหักแล้วก็ต้องพินาศไปทั้งสองฝ่ายดังนั้นทางเลือกทั้งสองฝ่ายก็คือสงบศึกโดยสร้างสงครามเย็นขึ้นและรอให้อีกฝ่ายเพลี่ยงพล้ำและบดขยี้ให้ราบคาบ ว่ากันว่ากลุ่มพระนักรบที่คอยกวนใจมาตลอดช่วงชีวิตของโนบุนากะนั้นมาจากฝีมือของเคนชินทั้งสิ้นและนั่นทำให้การบุกไปยึดแคว้นต่างๆล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น

     ตลอดช่วงที่ไม่มีศึกใหญ่ของมารฟ้าที่หกกับมังกรแห่งเอจิโกะนั้นโนบุนากะได้วางกำลังไว้เป็นแนวตาข่ายเพื่อตรึงทัพของเคนชินให้อยู่ในพื้นแคว้นเอจิโกะของตนเองที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อเป็นการสกัดกั้นไม่ให้เคนชินเข้ามายุ่งกับการชิงอำนาจในภาคกลาง ผลจากการตัดสินใจของมารฟ้าครั้งนั้นทำให้ต้องถูกบิชามอนเทนผู้นี้ตอดเล็กตอดน้อยเสียแคว้นต่างๆทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออยู่เรื่อยไปจนกระทั่งโนบุนากะยึดครองภาคกลางได้โดยสมบูรณ์ การรุกคืบของเคนชินนั้นแม้จะช้าไปเสียหน่อยทว่าการรุกคืบของเขาแบบนี้นั้นรอบคอบอย่างมากโดยไม่เปิดโอกาสให้โนบุนากะตีโต้กลับมาได้ง่ายๆ แม้ว่าจะไม่สบอารมณ์อย่างแรงที่ต้องโดนเคนชินตอดเล็กตอดน้อยเช่นนั้นอยู่เรื่อยๆแต่โนบุนากะก็เลือกที่จะจัดลำดบความสำคัญในการครองแผ่นดินก่อน สิ่งที่โนบุนากะต้องการในช่วงนั้นคือเวลา เวลาที่เหมาะสมที่จะเปิดศึกกับเคนชินอีกครั้ง และเมื่อโนบุนากะครอบครองพื้นที่ภาคกลางและเมืองหลวงได้ทั้งหมดแล้วโนบุนากะก็เตรียมรับศึกจากเคนชินซึ่งเป็นคู่ต่อกรที่น่ากลัวที่สุดสำหรับเขาทันที

     ทว่าการต่อสู้อีกครั้งของทั้งสองนั้นไม่มีวันเกิดขึ้น ศึกตัดสินระหว่างโอดะ โนบุนากะกับอุเอสึงิ เคนชินนั้นก็ไม่มีวันที่จะเกิดขึ้นอีกตลอดกาลเพราะอุเอสึงิ เคนชินนั้นต้องเสียชีวิตลงจากอาการป่วยเช่นเดียวกันกับพยัคฆ์แห่งคาอิคู่ปรับอีกคนหนึ่งของเขา และเป็นการปิดฉากขั้วอำนาจที่แข็งแกร่งที่สุดของยุคเซ็นโกคุอีกขั้วหนึ่งในทันทีเพราะหลังจากการตายของอุเอสึงิ เคนชินนั้นตระกูลอุเอสึงิไม่อยู่ในสายตาของโอดะ โนบุนากะอีกเลย บางที่นั้นยังกล่าวว่าเขาถูกลอบสังหาร ทว่าไม่ว่าจะเป็นความจริงเช่นไรเรื่องที่อุเอสึงิ เคนชินเสียชีวิตนั้นก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ซึ่งข่าวนี้เป็นข่าวดีสำหรับโอดะ โนบุนากะซึ่งมารฟ้าที่6เองก็ถึงกับพูดออกมาทีเดียวว่า "แผ่นดินนี้เป็นของข้าแล้ว"

     อุเอสึงิ เคนชินนั้นมิได้มีภรรยาดังนั้นเขาจึงรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยง เขาถือว่าเป็นเสาหลักของตระกูลอุเอสึงิอย่างแท้จริง ท้ายสุดนั้นตระกูลอุเอสึงิที่ไม่มีเคนชินก็มีจุดจบเช่นเดียวกับตระกูลใหญ่ทั้งปวง เพราะเกิดการแย่งชิงอำนาจขึ้นระหว่างผู้สืบทอดและหลังจากนั้นก็ทำให้เกิดความพินาศของตระกูล 



เรียบเรียงโดย SaltAdmin
ขอบคุณข้อมูลก่อนการเรียบเรียงจาก
ยศไกร ส.ตันสกุล จาก 
www.gypzyworld.com และ wiki

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่น่าเลยไอการแย่งชิงอำนาจขึ้นระหว่างผู้สืบทอดเนี่ย

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เป็นปกติของตระกูลใหญ่ทั้งหลายแหล่ครับ มีลูกชายคนเดียวไม่มีปัญหาแต่ตายแล้วก็จบเห่ มีลูกชายหลายคนตีกันแย่งอำนาจ+สมบัติตระกูลล่มสลาย ไม่ว่าทางไหนก็เละเป็นโจ๊ก เว้นแต่ตระกูลบางตระกูลที่มีการจัดการที่ดี

      ลบ