กลับมาอีกครั้งกับบทความเกี่ยงกับประวัติศาสตร์และบุคคล รอบนี้จะเป็นตัวบุคคลซึ่งก็เป็นคนดังที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก นั่นก็คือนักบุญหญิงโจนออฟอาร์คหรือฌาน ดาร์กนั่นเอง
อธิบายไว้ที่นี่ก่อนเช่นเคย บทความนี้มาจากการเรียบเรียงโดยความเข้าใจของผมเอง และมาจากบทความที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์โดยมิได้เกี่ยวข้องกับประวัติและความสัมพันธ์ในเนื้อเรื่องของเกมแต่อย่างใด
โจนออฟอาร์ก หรือ ฌาน ดาร์ก เกิดในครอบครัวชาวนาเมื่อปี ค.ศ. 1412 ในหมู่บ้านโดมเรมีประเทศฝรั่งเศส ซึ่งโดมเรมีบ้านเกิดของโจนตั้งอยู่บริเวณชายแดนเขตอำนาจของมกุฏราชกุมารที่เป็นราชวงศ์ของฝรังเศสและฝ่ายเบอร์กันดีที่อยู่ข้างอังกฤษด้วยเหตุนี้สถานการณ์ที่เมืองบ้านเกิดของเธอในสมัยนั้นจึงค่อนข้างแย่เป็นอย่างมาก
ขอเกริ่นไว้ตรงนี้ก่อน ยุคสมัยที่โจนมีชีวิตอยู่นั้นคือยุคที่ฝรั่งเศสอยู่ระหว่างช่วงการทำสงครามกับประเทศอังกฤษซึ่งสงครามนั้นถูกเรียกขานในนามที่รู้จักกันว่า “สงครามร้อยปี” ต้นเหตุของสงครามร้อยปีนั้นมาจากการแย่งราชบัลลังก์โดยมกุฏราชกุมารชาลส์(ซึ่งต่อมาคือกษัตริย์ชาลส์ที่7)และฝ่ายเบอร์กันดีที่เขาข้างประเทศอังกฤษ ซึ่งความขัดแย้งได้ยืดเยื้อบานปลายอย่างยาวนานสร้างความเสียหายให้กับทั้งสองฝ่ายอย่างมาก
เวลานั้นทางมกุฏราชกุมารชาลส์ได้อ้างสิทธิในขึ้นครองราชย์ทว่ากลับไม่สามารถประกอบพิธีราชาภิเษกได้ เนื่องด้วยราชประเพณีของฝรั่งเศส พิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ฝรั่งเศสต้องทำที่เมืองแร็งส์ (Reims) แต่เมืองแห่งนี้กลับอยู่ในการปกครองของฝ่ายตรงข้ามซึ่งมีผลทำให้พระองค์ไม่สามารถประกอบพิธีราชาภิเษกได้ ทำให้สถานะในบัลลังก์ในตอนนั้นของกษัตริย์ชาลส์ที่7ยังไม่มั่นคงเท่าใดนัก
ภายใต้ภาวะที่สั่นคลอนจากความขัดแย้งของสองฝ่ายนั้นไม่มีผู้ใดเลยที่จะรู้ว่าเวลานี้นั้นกำลังจะเป็นเวลาที่จะเกิดวีรสตรีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศฝรังเศษ โจนบุตรีของชาวนาผู้เป็นเพียงเด็กสาวธรรมดาๆ นั้นกลายได้กลายเป็นสตรีศักดิ์สิทธิ์ผู้นำพาพวกพ้องกอบกู้แผ่นดินเกิดและขับไล่อังกฤษ โจนในวัย 16 นั้นอ้างว่าเธอได้รับ“เสียงสวรรค์” ซึ่งบอกเธอผ่านทางจากนักบุญ 3 ท่านคือ เซนต์ไมเคิล เซนต์แคเธอรีนและเซนต์มากาเร็ต โดยเสียงสวรรค์นั้นได้ให้เธอช่วยมกุฏราชกุมารชาลส์ได้ขึ้นครองราชย์
โจนที่ได้ยินเสียงแห่งสวรรค์นั้นเดินทางจากบ้านเกิดที่แสนห่างไกลไปยังเมืองวูคูเลอร์ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของฐานทัพที่ภักดีต่อชาลส์เพื่อขอเข้าร่วมรบแต่ถูกปฏิเสธ กระนั้นเธอก็ยังเดินทางไปยังวูคูเลอร์อีกครั้งโดยมิได้ยอมแพ้ ด้วยความแน่วแน่และบุคคลิกของเธอทำให้หลายๆคนศรัทธาและทำให้เธอได้รับการยอมรับจากเหล่าทหาร ซึ่งทำให้เธอได้ร่วมเดินทางไปยังชีนงเพื่อเข้าเฝ้าชาลส์
กษัตริย์ชาลส์เมื่อทราบว่ามีสตรีนางหนึ่งอยู่ในกองทัพก็ทรงสงสัยในตัวเธอไม่น้อย ทรงลังเลว่าจะให้โจนได้เข้าเฝ้าหรือไม่และกษัตริย์ชาลส์ก็ยอมให้เธอเข้าเฝ้าใน2วันต่อมา ซึ่งโจนจึงได้บอกความตั้งใจของตนกับกษัตริย์ชาลส์ว่าเธอต้องการออกรบเพื่อขับไล่อังกฤษออกจากบ้านเกิดทั้งยังบอกเรื่องเสียงจากสวรรค์ที่บอกให้เธอช่วยเหลือให้กษัตริย์ชาลส์ได้ประกอบพิธีราชาภิเษกที่เมืองแร็งส์ด้วย
การที่เธออ้างว่าได้ยินเสียงจากสวรรค์นั้นทำให้เธอต้องถูกทดสอบและไต่สวนโดยเหล่านักบวช โจนอ้างกับเหล่านักบวชไปว่า เธอจะพิสูจน์ความจริงของเรื่องนี้ด้วยภารกิจที่เธอได้รับจากสวรรค์ซึ่งก็คือในการสู้รบที่เมืองออร์เลอองส์(Orleans) ซึ่งหลายฝ่ายในฝั่งฝรังเศสในเวลานั้นได้แนะนำให้ใช้ประโยชน์จากความพิเศษของเธอในการออกศึกครั้งนี้ ซึ่งชาลส์ก็มอบกำลังทหารกองเล็กๆให้กับเธอเพื่อเดินทางไปยังออร์เลอองส์
การมาถึงของโจนและกำลังเสริมพร้อมเสบียงช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับเหล่าทหารฝรั่งเศส เธอนำทัพออกรบหลายครั้ง ซึ่งในการรบเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 1429 เธอก็ถูกทหารอังกฤษยิงด้วยธนูซึ่งหลังจากที่เธอทำแผลเพียงไม่นานก็รีบรุดกลับมาที่สนามรบ การกลับมาของเธอนั้นสร้างแรงกระตุ้นอย่างมหาศาลให้กับทหารฝรั่งเศสและนั่นทำให้ทหารอังกฤษเสียเปรียบอย่างมาก และเมื่อการรบผ่านไประยะหนึ่งกองทัพอังกฤษที่เสียเสียท่ากองทัพฝรั่งเศสก๋ตัดสินใจถอนทัพออกจากออร์เลอองส์ในวันถัดมา
หลังจาการได้รับชัยชนะที่ออร์เลอองส์นั้นในช่วง 5 สัปดาห์หลังจากนั้น ทางกองทัพฝรั่งเศสยิ่งได้รับข่าวดีมากขึ้นเมื่อพวกเขาได้ชัยชนะเหนือทัพอังกฤษอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันที่ 16 กรกฎาคมเมื่อข่าวนี้มาถึงกองทัพฝั่งตรงข้ามก็พวกเขาก็เสียขวัญอย่างมาก ส่งผลให้เมืองแร็งส์ยอมให้กองทัพฝรั่งเศสที่นำโดยโจนและชาลส์เข้ามาในเมืองแต่โดยดี และวันถัดมาหลังจากที่ชาลส์มาถึงเมืองแรงค์เขาก็ได้ประกอบพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสตามราชประเพณีและเป็นกษัตริย์โดยสมบูรณ์
โจนได้นำทัพร่วมศึกหลายครั้งหลายครา ซึ่งตัวตนของเธอนั้นเป็นรากฐานกำลังใจของทหารฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก บ่อยครั้งที่เธอฝืนตัวเองและพาสังขารที่บาดเจ็บเข้าสู่สนามรบเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจแก่เหล่าทหารหาญ หลายครั้งหลายคราที่ทหารที่ได้รับการกระตุ้นกำลังใจนั้นมีแรงต่อสู้ต่อไปและได้รับชัยชนะแต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นตลอดไป
ศึกสุดท้ายของวีรสตรีผู้นี้คือการศึกกับฝ่ายเบอร์กันดีในเมืองคองเพียญน์ (Compiègne) ซึ่งเธอสามารถขับไล่ฝ่ายเบอร์กันดีไว้ได้ 2 ครั้ง แต่สุดท้ายเธอก็ถูกฝ่ายเบอร์กันดีจับตัวไว้ได้ในวันที่ 23 พฤษภาคม 1430 โดยความช่วยเหลือจากกองทัพอังกฤษ ก่อนที่ฝ่ายเบอร์กันดีจะขายตัวเธอให้กับอังกฤษด้วยค่าหัว 10,000 ฟรังส์ โดยมีคณะเทววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยปารีสซึ่งเข้าข้างฝ่ายอังกฤษเป็นตัวกลางในการเจรจา ขณะที่กษัตริย์ชาลส์ที่ 7 ก็มิได้พยายามช่วยเหลือเธอแต่อย่างใดเนื่องจากพระองค์กำลังพยายามหาข้อตกลงในการสงบศึกกับฝ่ายเบอร์กันดี
แน่นอนว่าเมื่อตัวเธอตกอยู่ในมือของฝั่งอังกฤษแล้วเธอก็ต้องถูกพิจารณาโทษจากฝ่ายอังกฤษ ซึ่งการกระทำของเธอที่ทำให้กองทัพอังกฤษต้องพ่ายแพ้หลายครั้งหลายครานั้นก็ทำให้ฝ่ายอังกฤษไม่พอใจอย่างมาก โจนถูกส่งตัวต่อไปเพื่อไต่สวนโดยตั้งข้อหาว่าประพฤติตนนอกรีตและเป็นแม่มดเพื่อให้ได้รับโทษสูงสุดและเพื่อเป็นการลดความน่าเชื่อถือของกษัตริย์ชาลส์ที่ 7แห่งฝรั่งเศส แน่นอนว่าด้วยความย่ำแย่ของระบบยุติธรรมในสมัยนั้นเมื่อมีผู้ใดที่เข้าข่ายมีความผิดโดยมากก็มักจะมีจุดจบที่เลวร้าย แน่นอนว่าสำหรับคนต่างบ้านต่างเมืองและเป็นศัตรูของกองทัพอังกฤษนั้นไม่ต้องพูดถึงเลยว่าจะต้องโดนลงโทษหนักขนาดไหน แต่แม้ว่าจะมีการลงโทษทรมานเธอเพียงใดโจนก็ยังไม่ยอมรับสารภาพในความผิดที่ทางฝ่ายอังกฤษได้ยัดเยียดเอาไว้ และนั่นทำให้อังกฤษสั่งประหารเธอในฐานแม่มดด้วยการเผาทั้งเป็น
ในวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ.1431 โจนถูกเผาทั้งเป็นด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีตจบชีวิตด้วยวัยเพียง 19 ปี ภายหลังเหตุการณ์นี้ 20 ปี ครอบครัวของโจนได้ทำเรื่องฎีกาเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริงของโจน ซึ่งกษัตริย์ชาลส์ที่ 7 เองได้สั่งให้รื้อคดีของโจนขึ้นมาสอบสวนใหม่อีกครั้ง และผลจากการสอบสวนใหม่ทั้งหมดนี้ปีแยร์ โกชงตัวการที่ใส่ความโจนนั้นถูกตัดสินว่าเป็นผู้นอกรีตเพราะเป็นผู้ลงโทษผู้บริสุทธิ์เพื่อหาผลประโยชน์ใส่ตนเองซึ่งแม้ว่าเจ้าหมอนี่จะเสียชีวิตไปก่อนที่จะได้รับการลงโทษแต่ชื่อของเขาก็ถูกประนามในฐานะคนชั่วที่เลวร้ายที่สุดคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ ท้ายที่สุดแล้วนั้นทางวาติกันประกาศให้ฌานเป็น“มรณสักขี”มีการเลื่อนลำดับขึ้นขึ้นตามลำดับและท้ายสุดได้แต่งตั้งให้เธอเป็นนักบุญแห่งคลิสตจักรคาทอลิกในปี ค.ศ. 1920
ความสัมพันธ์ของโจนกับกิลส์ เดอ เรยส์ หรือจิล เดอ เรยส์ นั้นครั้งแรกที่เขาได้พบโจนคือช่วงที่เขาถูกกษัตริย์ชาลส์เรียกพบ จิลประทับใจในตัวโจนมากถึงขนาดเข้าร่วมพิธีสาบานตนเพื่อร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่โจนนับตั้งแต่นั้น เธอเป็นดังแสงนำทางให้กับจิลที่หลงทางในความมืดตลอดมา การเสียชีวิตของโจนด้วยการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมนั้นทำให้จิลรู้สึกชิงชังทุกสิ่งและเลือกที่หันหลังให้กับพระเจ้าอีกครั้ง เขากลายเป็นผู้เลื่อมใสในมนต์ดำและศาสตร์มืดซึ่งการที่จิลกลายเป็นผู้หลงไหลในมนต์ดำนั้นทำให้มีเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายถึง 1,500 คนเลยทีเดียว
แม้ว่าโจนออฟอาร์คจะไม่ได้อยู่บนโลกนี้แล้วเรื่องราวชื่อเสียงและคุณูปการของนักบุญหญิงผู้นี้ก็ยังคงอยู่บนโลกนี้ต่อไป เรื่องราวของเธอนั้นสร้างแรงบันดาลใจให้นักสร้างสรรค์หลายคนนำไปหยิบยกเป็นเรื่องราวในงานเขียนงานประพันธ์หลายต่อหลายชิ้น แม้กระทั่งเกมหรือการตูนก็มีการหยิบยกเรื่องราวและชื่อของเธอไปใช้อยู่บ่อยๆอีกด้วย
ไม่ว่าเรื่องราวในอดีตที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร โจนจะได้ยินเสียงของพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่นั้นผมคิดว่ามันมิได้สำคัญ เรื่องเหล่านั้นมิได้เปลี่ยนแปลงความเป็นจริงที่ว่าวีรสตรีผู้นี้นั้นเป็นผู้ที่รักแผ่นดินเกิดโดยแท้จริงได้ วีรกรรมของเธอนั้นได้ถูกกล่าวขานจวบจนปัจจุบันและถูกบันทึกลงหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะสตรีศักดิ์สิทธิ์ผู้นำปวงชนกอบกู้แผ่นดินเกิด
เรียบเรียงโดย
Salt Admin
ขอบคุณข้อมูลก่อนการเรียบเรียงจาก
wikipedia และ silpa-mag.com
ขอบคุณสำหรับข้อมูลคร้าบบบ
ตอบลบ