วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

โอดะ โนบุนากะ มารฟ้าที่หกแห่งยุคเซ็นโงคุ




     กลับมาอีกครั้งกับประวัติของบุคคลในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเกม FATE/Grand order วันนี้ผมจะมาเล่าเกี่ยวกับบุคคลหนึ่งซึ่งมีตัวตนอยู่จริงในหน้าประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นและเขาผู้นี้ยังเป็นบุคคลที่เกือบจะได้ครองประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย นั่นคือโอดะ โนบุนากะนั่นเอง
     เช่นเคย ผมจะยึดตามประวัติศาสตร์โดยอ้างอิงจากแหล่งต่างๆโดยไม่นำข้อมูลของเกมมาเกี่ยวข้องนะครับ

     โอดะ โนบุนากะเกิดเมื่อค.ศ. 1534 ที่ปราสาทนาโงยะ มีชื่อเดิม คิปโปชิ เป็นบุตรชายคนที่สองของ โอดะ โนบุฮิเดะ ไดเมียวแห่งแคว้นโอวาริ(ปัจจุบันคือจังหวัดไอจิ) และเป็นบุตรคนโตที่เกิดกับภรรยาเอกของโนบุฮิเดะ ในวัยเด็กนั้นโนบุนากะได้ฮิราเตะ มาซาฮิเดะเป็นอาจารย์คอยฝึกวิชาและมอบความรู้ให้ แต่ด้วยพฤติกรรมที่ประหลาดที่เอาแต่ใจ และไม่อยู่ในกรอบประเพณีของโนบุนากะนั้นทำให้เหล่าซามุไรและข้ารับใช้ไม่พอใจ เขาจึงถูกตั้งฉายาอีกอย่างหนึ่งก็คือ"เจ้าโง่แห่งแคว้นโอวาริ"

     สาเหตุที่โนบุนากะยังคงรักษาสถานะของทายาทตระกูลโดยชอบธรรมได้นั้นมาจากการสนับสนุนของโนบุฮิเดะซึ่งเป็นบิดาและฮิราเตะ มาซาฮิเดะผู้เป็นอาจารย์ และด้วยเหตุที่ว่าตอนนั้นตระกูลโอดะต้องเพชิญกับภัยคุกคามจากแคว้นข้างเคียงโนบุฮิเดะจึงผูกสัมพันธ์กับตระกูลไซโตด้วยการแต่งงานและนั่นทำให้โนบุนากะได้โนฮิเมะมาเป็นภรรยาและยังเป็นการสานสัมพันธ์สองตระกูลให้แน่นแฟ้นอีกด้วย

     ในค.ศ. 1551 โนบุฮิเดะผู้เป็นบิดาของโนบุนากะถึงแก่กรรม ตัวโนบุนากะได้อาละวาดกลางงานศพของบิดาของตนทำให้บรรดาข้ารับใช้ของตระกูลโอดะไม่พอใจอีกครั้ง ในครั้งนี้ทำให้ฮิราเตะ มาซาฮิเดะรู้สึกผิดอย่างมากที่ทำการสั่งสอนโนบุนากะไม่ดีพอจึงกระทำการเซ็ปปุกุเพื่อชดใช้ความผิด เหตุการณ์นี้ทำให้โนบุนากะเสียใจอย่างมาก และเมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งไดเมียวแห่งโอวาริแล้วโนบุนากะที่ด้อยประสบการณ์นั้นต้องสูญเสียการปกครองของแคว้นให้โอดะ โนบุโตโมะ ผู้มาจากสาขาย่อยของตระกูลโอดะซึ่งเป็นผู้ปกครองปราสาทคิโยซุ

     ใน ค.ศ. 1554 ชิบะ โยชิมุเนะ ชูโงแห่งแคว้นโอวาริทราบว่าโนบุโตโมะวางแผนลอบสังหารโนบุนากะ จึงนำเรื่องนี้มาบอกแก่โนบุนากะ เมื่อโนบุโตโมะทราบว่าแผนของตนรั่วไหลจึงสังหารโยชิมุเนะไป และในปีต่อมา โนบุนากะที่รู้ว่าโนบุโตโมะนั้นคิดจะฆ่าตนก็ได้ชิงลงมือทำการลอบสังหารโนะบุโตะโมะเสียก่อน ณ ปราสาทคิโยะซุ

     ปีต่อมาค.ศ. 1556 ไซโต โยชิตาซึ ได้ก่อกบฏเพื่อยึดอำนาจของบิดาของตนเอง ไซโต โดซันจึงขอให้โนบุนากะผู้เป็นลูกเขยยกทัพมาช่วย ซึ่งโนบุนากะเองไปไม่ทันการไซโต โดซันถูกสังหารในสนามรบและไซโต โยชิตาซึได้ขึ้นเป็นไดเมียวแห่งมิโนะคนใหม่ ด้วยความแข็งแกร่งของแคว้นมิโนะในเวลานั้นแม้ว่าโนบุนากะจะอยากจะล้างแค้ให้พ่อตาของตนสักเท่าใดก็เป็นเรื่องยาก เขาจึงหันกลับมาเพื่อสะสางปัญหาใกล้ตัวก่อนนั่นก็คือ ตระกูลโอดะของตนนั่นเอง

     ในปีเดียวกันนี้นั้นน้องชายของโนบุนากะที่มีชื่อว่าโอดะ โนบุยูกิเองก็ก่อกบฏเพื่อขึ้นเป็นผู้นำตระกูลโอดะเองซึ่งเรื่องนี้โนบุยุกิได้รับการสนับสนุนของชิบาตะ คาซึอิเอะและฮายาชิ ฮิเดซาดะ รวมถึงแม่แท้ๆของโนบุนากะเองด้วย ซึ่งตัวโนบุนากะนั้นสามารถเอาชนะทัพของน้องชายตนเองได้ในที่สุด โดยสุดท้ายโนบุนากะก็ไว้ชีวิตขุนพลทั้งสอง ทว่าเขาต้องการที่จะสังหารโนบุยูกิน้องชายผู้เป็นตัวสร้างปัญหา ทว่าจากการขอร้องของแม่ของโนบุนากะเองเขาจึงได้ไว้ชีวิตโนบุยูกิไว้ครั้งหนึ่ง ท้ายที่สุดโนบุยูกิก็ยังวางแผนยึดอำนาจอยู่ดีจนเขาถูกโนบุนากะสั่งหารด้วยอุบายแสร้งป่วยโดยได้ให้โนบุยูกิมาเยี่ยมตนที่ปราสาทคิโยะซุและนั่นทำให้โอดะ โนบุนากะได้รับอำนาจของตระกูลโอดะแบบเบ็ดเสร็จโยไม่มีผู้ใดในตระกูลคัดค้านได้อีก

     การรบครั้งหนึ่งที่ทำให้โนบุนากะแสดงถึงความสามารถทางการรบและการวางแผน เมื่ออิมางาวะ โยชิโมโตะ แห่งตระกูลอิมางาวะต้องการจะเดินทัพผ่านโอวาริไปยึดเกียวโต ตระกูลอิมางาวะเองก็เล็งเห็นว่าโอวาริเป็นจุดที่เหมาะสมกับการใช้เป็นที่มั่นในการบุกเกียวโตดังนั้นก็มีความต้องการครอบครองโอวาริด้วยเช่นกัน ซึ่งขุนพลทั้งหลายทราบดีว่าตระกูลอิมางาวะเป็นตระกูลที่มีอำนาจทางการทหารสูงมากในขณะนั้นจึงได้แนะนำให้โนบุนากะยอมสวามิภักดิ์ตระกูลอิมางาวะเพื่อให้ทัพอิมางาวะผ่านโอวาริไปโดยดี ทว่าโนบุนากะกลับเห็นต่างและดึงดันที่จะขวางทัพของโยชิโมโตะที่มีกำลังถึง 4หมื่นคนด้วยกำลังของโอวาริซึ่งมีเพียง5พันคน ซึ่งเป้าหมายของโนบุนากะนั้นคือหัวของโยชิโมโตะซึ่งเป็นผู้นำทัพ เขาอาศัยข่าวสารในการติดตามและตรวจสอบทัพอิมางาวะอย่างถี่ถ้วนก่อนจะลงมือในระหว่าที่ทัพอิมางาวะตั้งอยู่ที่ช่องเขา ความที่ฝนฟ้าเป็นใจดังโชคช่วยดลบันดาลให้เกิดฝนตกหนักจึงเป็นโอกาสให้โนบุนากะใช้กำลังไม่ถึงครึ่งหนึ่งบุกเข้าโจมตีทัพของโยชิโมโตะในเวลาวิกาล ด้านทัพของโยชิโมโตะที่มีกำลังเหนือกว่านั้นไม่สามารถทำอะไรได้ดั่งใจคิดเพราะการสั่งการทั้งหมดถูกเสียงฝนกลบไปจนหมดสิ้นอีกทั้งความมืดยังทำให้ไม่สามารถรบได้ดั่งปรารถนา การมีกำลังที่มีจำนวนมากกว่า ณ เวลานี้เลยเป็นพิษร้ายที่ทำลายทัพโยชิโมโตะเสียเอง และนั่นเป็นเหตุให้โยชิโมโตะต้องเสียชีวิตลงกลางสนามรบ และชื่อของโอดะ โนบุนากะก็โด่งดังไปทั่วประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นโนบุนากะก็ได้ยกทัพไปเอาชนะไซโต โยชิตาซึล้างแค้นให้กับพ่อตาของตนและได้ครอบครองแคว้นมิโนะในที่สุด

     ตัวโนบุนากะนั้นมีให้ความสนใจกับสิ่งแปลกใหม่และเปิดใจรับมันโดยไม่สนใจขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีตั้งแต่โบราณ นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้โอดะ โนบุนากะกลายเป็นขั้วอำนาจที่ทรงพลังในกาลต่อมา เมื่อชายผู้นี้ได้สัมผัสกับปืนซึ่งผลิตขึ้นโดยชาวโปรตุเกสในขณะนั้นโนบุนากะก็เกิดฉุกคิดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับอาวุธชิ้นนี้ขึ้น เขาได้ให้ช่างทำการเลียนแบบปืนของโปรตุเกสและฝึกฝนพลปืนเป็นระยะๆโดยพลปืนเหล่านี้คือเหล่าชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ใช่ซามูไรและหลังจากนั้นก็ไม่มีผู้ใดคาดถึงเลยว่าพลปืนไฟของโนบุนากะจะสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับทหารม้าที่หลายแคว้นภาคภูมิใจและขยายบทบาทให้กับพลปืนไฟเป็นกองหนุนทรงพลังที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการรบไปตลอดกาล


     การรบครั้งหนึ่งที่ทำให้โนบุนากะและพลปืนไฟของเขาสร้างความครั่นคร้ามให้ทั่วหล้าคือการยึดปราสาทนากะชิโนะในปี 1575 ซึ่งเป็นศึกที่กองทัพของโนบุนากะต้องปะทะกับกองทหารม้าเหล็กของตระกูลทาเคดะ โดยครั้งนั้นโนบุนากะได้จัดเตรียมพลปืนไฟประมาณ 500 นายเพื่อทำศึก ตระกูลทาเคดะเองก็ประมาทในตัวโนบุนากะเกินไปและพวกเขาไม่เคยคาดคิดว่าพลปืนไฟของโนบนากะจะร้ายกาจและทรงพลังเช่นนี้ ซึ่งการรบครั้งนั้นทำให้ตระกูลทาเคดะสูญเสียไพล่พลไป 1หมื่นนายโดยไม่ได้ทำให้ทหารของโนบุนากะล้อมตายแม้แต่คนเดียว และด้วยยุทธวิธีอันยอดเยี่ยมนี้ทำให้ไม่มีใครกล้าเรียกชายผู้นี้ว่าเป็นผู้โง่เขลาอีกแล้วแต่เป็นชายที่หลายตระกูลต้องจับตามองในฐานะภัยคุกคาม

    พูดถึงวิธีการของโนบุนากะแล้ว ในอดีตนั้นพลปืนไปมีหน้าที่ในการทำให้ศัตรูชะงักก่อนจะใช้ทหารม้าบุกโจมตีซ้ำไม่ให้อีกฝ่ายตั้งตัวติด แต่พลปืนของโนบุนากะไม่ได้ใช้วิธีการเช่นนี้ พวกเขาเรียงเป็นแถวอย่างมีระเบียบและแบบแผนโดยการยืนเรียงกันสามแถว แถวแรกจะเป็นคนโจมตีก่อน แถวที่สองจะเข้ามาโจมตีต่อแจกแถวแรก และแถวที่สามจะทำการโจมตีต่อจากแถวที่สอง ซึ่งเมื่อทำเช่นนั้นพลปืนไฟในแถวแรกก็จะบรรจุลูกกระสุนสำเร็จพอดี และพวกเขาจะทำเช่นนี้ซ้ำไปซ้ำมาจนกว่าอีกฝ่ายจะพ่ายแพ้หรือยอมล่าถอยไปเอง และนอกจากนั้นพวกเขายังวางแนวป้องกันเพื่อขัดขวางการบุกของทหารม้าไว้อีกด้วยดังนั้นหากบุกเข้ามาแล้วก็ไม่มีโอกาสถอยได้แต่เพียงเป็นเป้าของคมกระสุนคาบศิลาเท่านั้น

     ไม่แปลกเลยว่าหลังจากนั้นอาวุธปืนจะกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศญี่ปุ่นในสมัยของโทคุงาวะ อิเอยาสุเนื่องจากการฝึกฝนพลปืนไฟนั้นไม่ได้มีระยะเวลาในการฝึกที่มากมายและคนทั่วๆไปนั้นก็สามารถใช้งานได้ง่ายอีกด้วยซึ่งสามารถดูได้จากทหารปืนไฟของโนบุนากะที่แรกเริ่มเดิมทีเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาและชาวนาเท่านั้น โดยการสั่งห้ามของโทคุงาวะ อิเอยาสุนั้นมีเหตุผลว่าเพื่อความมั่นคงต่ออำนาจของโชกุน


     โนบุนากะนั้นเคยถูกทาบทามจากเกียวโตให้เป็นขุนนางระดับสูงในนั้นเพราะเขาได้ช่วยเหลือโชกุนโยชิอากิแก้แค้น2ขุนพลทรยศที่มีชื่อว่ามาซึนางะ ฮิซาฮิเดะและมิโยชิ โยชิซึงุได้สำเร็จและยังช่วยเหลือให้โยชิอากิได้ขึ้นเป็นโชกุนคนถัดมาอีกด้วย  ทว่าการทาบทามนี้โนบุนากะปฎิเสธไปเพราะไม่เห็นประโยชน์ในการอยู่เป็นข้ารับใช้โชกุนโยชิอากิ เขาสนใจอำนาจในฐานะผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังมากกว่าอำนาจจากตำแหน่งทางพิธีการและนั่นเป็นเหตุให้โชกุนโยชิอากิมองเขาในฐานะศัตรูในเวลาต่อมาซึ่งภายหลังโชกุนโยชิอากิก็ได้พ่ายแพ้ให้กับโนบุนากะและถูกบังคับให้ออกบวชจวบจวนวาระสุดท้าย

     โนบุนากะนั้นมักจะมีปัญหากับเหล่าพระนักรบทั้งหลายอยู่หลายครั้ง เพราะพระนักรบเหล่านี้มองว่าการที่โนบุนากะทำการเปิดประเทศนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สมควร และผลจากการเปิดประเทศทำให้เหล่ามิชชั่นนารีมีโอกาสมาเผยแพร่คำสอนของศาสนาคริสต์สร้างความบาดหมางให้กับเหล่าชาวพุทธในญี่ปุ่นสมัยนั้นอย่างมาก และด้วยเหตุที่ตั้งตนเป็นศัตรูนี้เองทำให้โนบุนากะจะต้องสู้รบกับเหล่าพระนักรบเหล่านี้อยู่หลายครั้งซึ่งบางครั้งพวกเขาก็มาในรูปแบบของกองหนุนฝ่ายศัตรูอีกด้วย

     โนบุนากะเองก็ไม่พอใจที่เหล่าพระนักรบเหล่านี้ชอบสร้างปัญหาให้กับเขา และในที่สุดเขาก็ลงมือปราบปรามขั้นเด็ดขาดด้วยการปิดล้อมและฆ่าคนบนเขาฮิเอจบหมดสิ้นไม่มีการละเว้นใดๆทั้งนั้นแม้กระทั่งเด็กหรือสตรี และความเหี้ยมโหดนั้นเป็นเหตุให้เขาถูกมองเป็นแม่ทัพผู้เหี้ยมโหดที่ถูกเรียกว่าจอมมารในกาลต่อมา ตัวโนบุนากะนั้นไม่มีความปราณีกับผู้ใดที่คิดว่าเป็นศัตรูและมักจะบดขยี้ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้ต่อต้านให้ราบคาบชนิดที่ว่าลุกขึ้นมาเอาคืนอีกไม่ได้แน่นอน มีผู้คนและเมืองมากมายถูกเขาทำลายจนย่อยยับ ทว่าเขากลับไม่ทำลายเมืองท่าที่สำคัญหลายแห่งด้วยเหตุที่ว่าเมืองท่าทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่นำความเจริญมาสู่ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังให้สิทธิพิเศษแก่พ่อค้าแม่ค้ายเหล่านั้นด้วยและนั่นทำให้เมืองท่าเหล่านั้นนำความเจริญเข้ามายังประเทศเป็นอย่างมาก

     ด้านความสัมพันธ์ของโนบุนากะกับอุเอสึงิ เคนชินแล้วทั้งคู่ได้ประมือกันหลายครั้งหลายคราแล้วก็ต่างยอมรับในความร้ายกาจของกันและกันจนทั้งคู่ต่างนับว่าเป็นคู่ปรับกันตลอดกาล โนบุนากะเองได้ประเมินเคนชินไว้ว่ามังกรแห่งเอจิโกะผู้นี้เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความสามารถเพียงพอที่จะครองแผ่นดินญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียวได้อีกคนหนึ่งนอกจากเขา และเมื่อเคนชินป่วยหนักจนเสียชีวิตโนบุนากะเองก็ถึงกับประกาศเลยว่าแผ่นดินนี้เป็นของข้าแล้ว

     ด้านความสัมพันธฺกับลูกน้องอย่างมิตสึฮิเดะในปี ค.ศ. 1579 เมื่อมิตสึฮิเดะรับหน้าที่เข้าโจมตีปราสาทยางามิ ของฮาตาโนะ ฮิเดฮารุ โดยมิตสึฮิเดะที่ไม่ชื่นชอบในความรุนแรงนั้นเลือกที่จะใช้วิธีการเจรจามากกว่าการรบห้ำหั่นกันด้วยกำลังดังนั้นมิซึฮิเดะส่งมารดาของตนไปเป็นตัวประกันเพื่อรับรองความปลอดภัยให้กับตระกูลฮาตาโนะ ทว่าพวกตระกูลฮาตาโนะไม่ได้คิดจะสวามิภักดิ์กับตระกูลโอดะตั้งแต่ต้นพวกเขาลงมือลอบสังหารโนบุนากะ ดังนั้นโนบุนากะจึงสั่งประหารชีวิตตระกูลฮาตาโนะทั้งหมด ส่งผลให้มารดาของมิซึฮิเดะต้องถูกตระกูลฮาตาโนะสังหาร เรื่องนี้สร้างความเจ็บแค้นให้กับมิตสึฮิเดะเรื่อยมา ซึ่งหลังจากนั้น มิซึฮิเดะก็ยังถูกสั่งให้นำกำลังเสริมไปช่วยเหลือฮิเดโยชิในฐานะผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของฮิเดโยชิอีก ซึ่งเป็นการดูถูกมิตสึฮิเดะอย่างรุนแรง ว่ากันว่าสิ่งนี้คือฟางเส้นสุดท้ายของความสัมพันธ์ของทั้งสองคนและทำให้มิตสึฮิเดะทรยศนายของตนเอง

     โนบุนากะเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1582 ที่วัดฮนโนจิโดยมิตสึฮิเดะที่นำกำลังไปช่วยฮิเดโยชินั้นได้นำกำลังย้อนกลับมาปิดล้อมวัดฮนโนจิ ซึ่งกำลังพลของโนบุนากะตอนนั้นมีจำนวนน้อยกว่าปกติอย่างมาก ความประมาทนี้ทำให้โนบุนากะต้องเสียท่าให้กับลูกน้องตนเอง ว่ากันว่าในระหว่างที่วัดฮนโนจิถูกเผาโอดะ โนบุนากะได้กระทำการเซ็ปปุกุและเสียชีวิตลงท่ามกลางเปลวเพลิงของวัดฮนโนจินั่นเอง ซึ่งหลังจากนั้นมิตสึฮิเดะเองก็ได้พ่ายแพ้ให้กับฮิเดโยชิที่ยกทัพมาล้างแค้นแทยนายตนเองและนั่นทำให้มิตสึฮิเดะจบชีวิตลงในสนามรบ

     ภายหลังจากการตายของโอดะ โนบุนากะตระกูลโอดะก็เสื่อมถอยลงอย่างมากและยังเกิดความแตกแยกเนื่องจากการพยายามแย่งชิงอำนาจของเหล่าทายาทสุดท้ายอำนาจที่มีนั้นก็ถูกฮิเดโยชิแย่งชิงไปเป็นของตนได้สำเร็จ สิ้นสุดช่วงรุ่งโรจน์ของตระกูลโอดะเกือบ 20 ปีลงในที่สุด

     ผมเองก็ขอจบประวัติโอดะ โนบุนากะที่ผมเรียบเรียงและย่อแบบสุดๆไว้ตรงนี้เช่นกัน

     แม้ว่าตัวโอดะ โนบุนากะจะจากโลกนี้ไปนานแล้วชื่อเสียงและความยิ่งใหญ่ในฐานะแม่ทัพผู้เกือบพิชิตญี่ปุ่นได้นั้นยังคงดำรงอยู่บนโลกใบนี้ นามของชายผู้นี้ยังคงมีอนุชนรุ่นหลังเคารพยกย่องอยู่จนปัจจุบัน การกระทำของเขาไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีงามหรือเรื่องที่เลวร้ายก็ถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์เพื่อให้อนุชนรุนหลังได้ศึกษาเรียนรู้เป็นกาลต่อไป

เรียบเรียงโดย Salt Admin
ขอบคุณข้อมูลก่อนการเรียบเรียงจาก
th.wikipedia.org,อชิตพล อภิวรรณศรี และ spokedark.com


2 ความคิดเห็น: