กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความตำนานเกี่ยวกับเซอร์แวนท์ รอบนี้จะเป็นเซอร์แวนท์ที่มีตัวตนจริงๆตามหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งก็คือมิยาโมโตะมุซาชิผู้เป็นต้นกำเนิดวิชานิเทนอิจิริวนั่นเอง
เหมือนเดิมนะครับผมจะเล่าประวัติของบุคคลนี้ผ่านหน้าประวัติศาสตร์โดยไม่ได้อิงกับเนื้อหาในเกมFATE/GO
เหมือนเดิมนะครับผมจะเล่าประวัติของบุคคลนี้ผ่านหน้าประวัติศาสตร์โดยไม่ได้อิงกับเนื้อหาในเกมFATE/GO
ในโลกนี้นั้นมีตำนานเกี่ยวกับผู้ใช้ดาบมากมาย ทว่าผู้ใช้ดาบบางคนที่มีฝีมือฉกาจฉกรรจ์ก็มิได้มีดีเพียงแค่ครอบครองอาวุธชั้นเลิศเท่านั้นนักดาบบางคนที่กล่าวถึงนั้นเป็นผู้ที่เข้าถึงแก่นแท้แห่งวิถีดาบหรือเรียกได้ว่าเข้าถึงวิชาดาบ ซึ่งนามของเหล่านักดาบเหล่านั้นย่อมเป็นที่รู้จักดีในโลก หนึ่งในนั้นคือ มิยาโมะโตะ มุซาชินั้นเอง
มิยาโมะโตะ มุซาชิ เป็นซามุไรไร้นายที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์โดยกล่าวกันว่าเขาคือสุดยอดนักดาบผู้สร้างตำนานไร้พ่าย ชื่อเดิมของเขาคือ ชินเม็ง ทาเคโซ ว่ากันว่าเป็นบุตรของชินเม็ง มุนิไซ ครูดาบที่มีชื่อในสมัยนั้นคนหนึ่ง ซึ่งตัวทาเคโซกับมุนิไซนั้นไม่ค่อยจะถูกกันสักเท่าไหร่ ซึ่งเมื่อเขาอายุได้15-16 ปีนั้นเขาก็ได้เข้าไปเข้าร่วมรบในสงครามเซกิงาฮาระซึ่งเป็นสงครามระหว่างทัพตะวันออกและทัพตะวันตก ซึ่งผลการรบในครั้งนั้นทัพประจิม(ตะวันตก)เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ยับเยินแต่มุซาชินั้นก็ยังสามารถรอดชีวิตกลับมาได้อย่างหวุดหวิด
หลังจากที่กลายเป็นทหารพ่ายศึก มุซาชิก็ใช้โอกาสนี้ฝึกปรือฝีมือดาบ เขาเริ่มออกพเนจรเพื่อสร้างชื่อเสียงให้ตนเอง ซึ่งก็ถือว่าเขาเป็นผู้มีวาสนาดีไม่น้อยเพราะการที่เขาได้พบกับทาคุอันพระซึ่งเป็นยอดฝีมือในเชิงยุทธ์ ทาคุอันผู้นี้เป็นผู้สอนให้มูซาชิผู้ที่มีจิตใจหยาบกระด้างและรุ่มร้อนตลอดเวลารู้จักสงบจิตใจอันร้อนรุ่มลง แล้วนำพาให้เขามุ่งสู่วิถีของนักรบในแบบเซน
ว่ากันว่าในปี ค.ศ.1604 – 1612 มูซาชินั้นออกเดินทางเพื่อประลองกับยอดฝีมือจำนวนมาก ยอดฝีมือเหล่านั้นต่างคนก็ต่างมีวิชาเป็นของตนเอง บ้างก็วิชาดาบ บ้างก็ถนัดวิชาทวน หรือไม่บางคนก็ถนัดอาวุธเฉพาะทาง ซึ่งมุซาชิได้ใช้ชีวิตเป็นเดิมพันและท้าสู้กับคนเหล่านั้นและเอาชนะมาได้สร้างชื่อเสียงจนโด่งดังไปทั่วญี่ปุน แต่กระนั้นด้วยความมุทะลุในเวลานั้นก็ทำให้เขาเป็นผู้ที่มีศัตรูมากมายเช่นกัน
การต่อสู้ที่ทำให้มุซาชิโด่งดังมากที่สุดหนึ่งในสองครั้งก็คือการสังหารหมู่สำนักดาบโยชิโอกะ 70 คนในคืนเดียว เหตุการณ์นั้นเกิดจากความมุทะลุของมุซาชิที่พลั้งมือฆ่าเจ้าสำนักโยชิโอกะ โดยที่การต่อสู้มีทั้งหมด 3 ครั้ง คือ คนแรก คือ โยชิโอกะ เซจูโร่ คนที่สอง คือ โยชิโอกะ เดนชิจิ คนที่สาม คือ โยชิโอกะ มาตาชิจิโร่(ว่าที่เจ้าสำนักคนต่อไป) ผลคือทำให้เหล่าลูกศิษย์สำนักโยชิโอกะที่โกรธแค้นบุกเข้ามาหมายสังหารมิยาโมโตะ มุซาชิในเวลานั้น และเพราะเข้าตาจนจากการถูกศัตรูล้อมกรอบมุซาชิจึงได้ใช้ดาบสองมือเป็นครั้งแรก และเป็นต้นกำเนิดวิชาดาบคู่นิเทนอิจิริว
การต่อสู้อีกครั้งหนึ่งที่โด่งดังนั้นเป็นตำนานการต่อสู้ของคู่ปรับตลอดกาล ศึกระหว่างซาซากิ โคจิโรสุดยอดนักดาบผู้ใช้วิชานางแอ่นหวนกลับและมิยาโมโตะ มุซาชิ เรื่องนี้แม้ปัจจุบันก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าผู้ใดที่เก่งกว่ากัน โดยมีการกล่าวกันว่าทั้งคู่นัดต่อสู้กันที่เกาะฟุนาชิม่า หรือเกาะเรือในวันที่ 13 เมษายน ซึ่งมุซาชิไปถึงที่หมายเลยเวลาเป็นระยะเวลานานทำให้โคจิโรเกิดโทสะจนขาดความระวังและทำให้เขาต้องเสียชีวิตลงด้วยไม้พายที่มุซาชินำมาเหลาแทนดาบ
บางตำนานว่ากันว่ามุซาชิใช้เวลาในการครุ่นคิดวิธีการแก้ทางวิชาดาบของโคจิโรจึงมาสาย ผลก็ไม่ต่างกันเพราะโคจิโรที่หัวร้อนเต็มที่ขาดสติและพลาดท่าให้กับมุซาชิจนเสียชีวิตลง ณ ที่แห่งนั้นไป ปิดตำนานเจ้าของวิชาดาบนางแอ่นหวนกลับไปทันที ทว่าผลการต่อสู้นั้นไม่ว่าจะจากตำนานไหนก็ว่ากันว่าทั้งคู่นั้นฝีมือดาบใกล้เคียงกันมาก กระทั่งเวลาที่โคจิโรล้มลงนั้นผ้าคาดหน้าผากของมุซาชิเองก็ขาดจนหลุดร่วงลงมาบนพื้นดินนั่นแสดงให้เห็นว่าหากโคจิโรมีชีวิตอยู่นานกว่านี้สักเพียงวินาทีเดียวคนที่ต้องตายที่นั่นอาจจะเป็นมุซาชิก็เป็นได้
มุซาชินั้นแม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จในฐานะนักดาบ แต่ก็เป็นผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานสักเท่าไหร่ ครั้งแรกคือที่ศึกเซกิงาฮาระศึกนั้นมุซาชิไปในฐานะทหารเลว(ทหารระดับล่างสุด)ผลปรากฏว่าทัพของฝั่งประจิม(ตะวันตก)พ่ายแพ้ยันเยินเป็นอันจบความหวังในการเข้ารับราชการครั้งแรกไป ครั้งต่อมาก็ตอนศึกที่ปราสาทโอซาก้า ซึ่งเป็นศึกใหญ่ครั้งสุดท้ายในยุคเซ็นโกคุ หลังจากศึกนั้นจบลงมุซาชิก็ยังคงเดินเตะฝุ่นไม่ได้โอกาสรับราชการกับโตกุงาวะอีกอยู่ดี
นั่นไม่ได้ทำให้มุซาชิย่อท้อ มิยาโมโตะ มุซาชิในวัย 40 ปีนั้นได้ไปสมัครรับราชการที่นครเอโดะอีกครั้ง ครั้งนี้เขาคบหากับผู้มีตำแหน่งหลายคนเช่น ฮายาชิ ระซัน บัณฑิตคนสำคัญของรัฐบาล ซึ่งเห็นถึงความสามารถทางดาบและการทหารของมูซาชิ นั่นทำให้มุซาชิได้มีโอกาสได้พบโชกุนเป็นครั้งแรก แต่ในการรับราชการนั้นกลับล้มเหลว ซึ่งหลายๆคนเชื่อกันว่า ตำแหน่งครูสอนดาบที่มุซาชิสมัครรวมถึงตำแหน่งที่ปรึกษาทางทหารของโชกุนนั้นมีผู้ครองตำแหน่งอยู่แล้วถึงสองคนคือ ตำแหน่งแรกผู้ที่ครอบครองคือ ยางิว มุเนโนริ และตำแหน่งต่อมานั้นคือ โอโนะ จิโร่เอมอน ซึ่งต่างก็เป็นนักดาบชื่อดังที่สร้างผลงานให้โตกุงาวะหลายอย่าง
นอกจากนั้นเขายังเคยสมัครเป็นครูสอนดาบให้ไดเมียวของโอวาริแต่ก็แป๊กอีกเช่นเคย เอาเป็นว่านักดาบผู้นี้เดินเตะฝุ่นจนเริ่มเอียนและเมื่อสวรรค์ไม่ต้องการให้มุซาชิได้เป็นข้าราชการแล้วนั้นมุซาชิจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่สนใจที่จะเข้ารับราชการอีกแล้วและเจ้าตัวก็งอนตุ๊บป่องออกเดินเตะฝุ่นไปทั่วญี่ปุ่นอีกครั้ง
ท้ายสุดแล้วในที่สุดก็มีคนที่สนใจมุซาชิ ไดเมียวโฮโซคาวะได้แสดงความตั้งใจที่จะรับมุซาชิเข้ามาเป็นข้าราชการซึ่งครั้งนี้มุซาชิปฎิเสธไปเพราะเดิมที่ตำแหน่งนี้เป็นของลูกบุญธรรมของตน และเขาไม่อยากจะทำลายอนาคตของลูกบุญธรรมของเขา กระนั้นไดเมียวโฮโซคาวะก็ไม่ละความตั้งใจโดยส่งสารอีกฉบับมาซึ่งหลังจากประจักษ์ว่าอีกฝ่ายต้องการตนจริงๆ มูซาชิจึงตัดสินใจเดินทางไปปราสาทคุมาโมโตะในต้นปีถัดมา
มูซาชิได้สมความมุ่งหวังที่รอมานาน ได้เข้ารับราชการเป็นครูสอนดาบให้ โฮโซคาวะ ทาดะโทชิ ผู้ครองปราสาทคุมาโมโตะ แล้วยังสร้างผลงานประลองฝีมือเอาชนะครูสอนดาบชื่อดังของที่นี่ได้ด้วย ซึ่งเวลานั้นมูซาชิอายุได้ 56 ปีซึ่งก็ถือว่ามีอายุมากพอสมควรเลยทีเดียว และนี่เป็นการเริ่มเข้ารับราชการครั้งแรกของมิยาโมโตะ มุซาชิอีกด้วย
ต่อมานั้นมุซาชิเริ่มป่วยจากโรคเส้นประสาทบ่อยครั้ง เขาจึงเริ่มเขียนตำรา 35 กลยุทธ์ไว้เผื่อว่าวันใดวันหนึ่งที่เขาจากโลกนี้ไปแล้วจะมีผลงานฝากฝังไว้บนแผ่นดินบ้าง ซึ่งต่อมาตำรา 35 กลยุทธ์นี้กลายเป็นเค้าโครงของคัมภีร์ห้าห่วงอันโด่งดังที่เขาจะแต่งขึ้นในภายหลังมิยาโมโตะ มูซาชิได้รับราชการอยู่กับ โฮโซคาวะ ทาดะโทชิ เพียงแค่ 2-3 ปีเท่านั้น เจ้านายคนแรกและคนเดียวของมูซาชิกลับล้มป่วยลงแล้วเสียชีวิตอย่างกะทันหัน
บางที่กล่าวไว้ว่ามุซาชิเสียใจกับการจากไปของไดเมียวโฮโซคาวะผู้นี้อย่างมาก ทำให้อาการป่วยของเขาทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก ในที่สุดมิยาโมโตะ มุซาชิก็ตัดสินใจละชีวิตทางโลกรอนแรมไปเก็บตัวในถ้ำเรงันโดบนภูเขาอิวาโตะซึ่งอยู่ไม่ไกลจากปราสาทคุมาโมโตะ แล้วเริ่มแต่งคัมภีร์ห้าห่วงขึ้น เมื่อแต่งจนเสร็จสิ้นก็มอบให้ศิษย์สองคนรับไว้ ว่ากันว่าทีแรกเขามีความตั้งใจที่จะเผาคัมภีร์ทิ้งโดยให้ศิษย์ทั้งสองเอาไปเผา ทว่าศิษย์ของเขาไม่อาจตัดใจทำลายผลงานที่อาจารย์ทุ่มเททั้งชีวิตเขียนขึ้น จึงได้ทำฉบับสำเนาและเก็บรักษาไว้สืบทอดต่อมา ผลงานชิ้นสุดท้ายของมิยาโมโตะ มุซาชิคือ คือ “วิถีก้าวเดินอันเด็ดเดี่ยวในความโดดเดี่ยว” ประกอบด้วยหลักแนวคิด 21 ประการ พินัยกรรมของมุซาชินั้นระบุให้นำศพฝังในชุดนักรบเต็มยศไว้บริเวณถนนสายหลักจากคุมาโมโตะไปสู่นครเอโดะ เพื่อต้องการแสดงความเคารพต่อไดเมียวโฮโซคาวะ ทาดะโทชิเจ้านายเพียงผู้เดียวของจอมดาบไร้พ่ายผู้นี้
อดคิดไม่ได้นะว่าว่าดวงแกนี่ทำให้หัวหน้ามีอันเป็นไปรึเปล่าซึ่งหากเพื่อนๆยังจำกันได้อยู่ หัวหน้าคนแรกที่รับมุซาชิเข้าเป็นทหารเลวในศึกเซกิงาฮาระเองก็เกือบจะมีอันเป็นไปเหมือนกัน ส่วนคนอื่นๆที่ไม่รับมุซาชิเข้าทำงานด้วยนั้นมักจะมีสาเหตุจากบุคคลิกของเขาหรือไม่ก็มีคนที่เหมาะสมกับหน้าที่นั้นอยู่แล้ว
มาถึงช่วงสุดท้ายแล้วมาพูดถึงเนื้อหาของคัมภีร์ 5 ห่วงกันซึ่ง เนื้อหาของคัมภีร์ 5 ห่วงนั้นคือวิถีแห่งดาบของมิยาโมโต้ มุซาชิได้ค้นพบหลังจากหลอมรวมวิชาดาบเข้ากับปรัชญาของขงจื้อ โดยแสดงแนวปรัชญาทางความคิด ประกอบด้วยพื้นฐานของธาตุเพื่ออธิบายตามมุมองต่างๆ ได้แก่
- ดิน หมายถึงพื้นฐานของวิชาศิลปะการต่อสู้และคัมภีร์เป็นดั่งพื้นฐานที่ชี้วัดผลของชัยชนะในเบื้องต้น
- น้ำ หมายถึงคือท่วงท่าการฟันดาบ น้ำเสมือนจิตซึ่งเปลี่ยนรูปร่างตามภาชนะที่ใส่ ซึ่งภาชนะเองก็เปรียบได้ดังอารมณ์ของนักดาบผู้นั้น
- ไฟ หมายถึงศัตรูซึ่งศัตรูนั้นเปลี่ยนแปลงได้เสมอยามน้ำน้อยเปลวเพลิงย่อมกลืนกินน้ำระเหิดหายไปจนสิ้น
- ลม หมายถึงสิ่งอื่นๆที่อยู่นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น นั่นคือความรู้เกี่ยวกับตัวเองและผู้อื่น เสมือนการรู้เขารู้เรา สิ่งนี้เป็นทำความเข้าใจตัวแปรทุกสรรพสิ่งและนำมาซึ่งผลลัพท์ที่ต้องการ
- ความว่างเปล่า หมายถึงการรวบรวมทุกอย่างที่กล่าวมาเป็นหนึ่งเดียว
ว่ากันว่าปัจจับันยังมีการถกเถียงเกี่ยวกับตัวมิยาโมโตะ มุซาชิไม่น้อยซึ่งบางส่วนกังขาเกี่ยวกับตำนานไร้พ่ายของนักดาบพเนจรผู้นี้ว่าเป็นเรื่องที่เกินจริง ทว่าตำราคัมภีร์ห้าห่วงของชายผู้นี้กลับเป็นตำราทรงคุณค่าที่แม้ปัจจุบันนี้ก็ยังมีผู้ที่ต้องการศึกษาให้ถ่องแท้ คัมภีรนี้เป็นแรงบันดาลใจการใช้ชีวิตตลอดจนสามารถประยุกต์ใช้ในการทำงานในยุคปัจจุบันได้อย่างทันสมัย เรียกได้ว่าตำราเล่มนี้เองก็เป็นหนึ่งในตำราทรงคุณค่าของโลกก็ว่าได้
และไม่ว่าตำนานของนักดาบไร้พ่ายจะมีจริงหรือไม่ ชื่อของนักดาบผู้เยี่ยมยอดที่สุดคนหนึ่งของแดนอาทิตย์อุทัยนั้นก็ย่อมจะมีชื่อมิยาโมโตุ มุซาชิผู้นี้ปรากฏอยู่ในทำเนียบตำนานเหล่านั้นเสมอๆ ชื่อนี้ถูกหยิบยกไปสร้างตัวละครต่างๆมากมายในเกม การ์ตูน หรือแม้กระทั่งทำออกมาในรูปแบบภาพยนต์ นับว่าเป็บุคคลดังในตำนานคนหนึ่งที่มีการจารึกชื่อลงในหน้าประวัติศาสตร์เลยทีเดียว
ภาพ มิยาโมโตะ มุซาชิ
เรียบเรียงโดย
SALT ADMIN
ขอบคุณข้อมูลก่อนการเรียบเรียงจาก
eaae-astro.org , gypzyworld.com และ marumura.com